การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัลด้านการบริการของภาครัฐบาล กรณีศึกษาชุมชนจังหวัดสตูล
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัล เพื่อศึกษาความต้องการการฝึกอบรมการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัล เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพหลักสูตรฝึกอบรมการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัล และเพื่อศึกษาผลการใช้หลักสูตรฝึกอบรมโดยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการฝึกอบรมก่อนและห...
Saved in:
Main Authors: | , , |
---|---|
Other Authors: | |
Language: | Thai |
Published: |
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, วิทยาเขตปัตตานี
2023
|
Subjects: | |
Online Access: | http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2016/17811 |
Tags: |
Add Tag
No Tags, Be the first to tag this record!
|
Institution: | Prince of Songkhla University |
Language: | Thai |
Summary: | การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัล เพื่อศึกษาความต้องการการฝึกอบรมการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัล เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพหลักสูตรฝึกอบรมการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัล และเพื่อศึกษาผลการใช้หลักสูตรฝึกอบรมโดยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการฝึกอบรมก่อนและหลังฝึกอบรมด้วยหลักสูตรและศึกษาความพึงพอใจของผู้รับการฝึกอบรม กรณีศึกษาชุมชนจังหวัดสตูล ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบการวิจัยและพัฒนาและมีการดำเนินการวิจัยโดยใช้รูปแบบผสมผสานวิธี ใช้แบบสอบถาม ประเด็นการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง แบบประเมินประสิทธิภาพหลักสูตรฝึกอบรม แบบทดสอบก่อนและหลังการฝึกอบรมหลักสูตร และแบบประเมินความพึงพอใจหลักสูตรฝึกอบรม กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนในอำเภอเมือง อำเภอมะนัง จังหวัดสตูลและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำการคัดเลือกด้วยวิธีเจาะจง โดยการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีเชิงคุณภาพ โดยการสังเคราะห์เชิงเนื้อหาจากการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ตามแนวทางกระบวนการการจัดหมวดหมู่และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีเชิงปริมาณด้วยการใช้สถิติเชิงพรรณนา โดยใช้ค่าสถิติการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าคะแนนทีและค่าคะแนนมาตรฐานซี ผลวิจัยพบว่า 1. สภาพการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัลด้านการบริการของภาครัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการเข้าถึงสารสนเทศภาครัฐ และสารสนเทศอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน การไม่รับรู้ข่าวสารจากการประชาสัมพันธ์เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเข้าไม่ถึงบริการภาครัฐบาล เช่นเดียวกับปัจจัยทางด้านช่วงวัย ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลให้การรับรู้สารสนเทศเกิดความไม่เท่าเทียมกัน สืบเนื่องจาก ฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่มีรายได้ที่ไม่แน่นอน ด้วยส่วนใหญ่ประชาชนมีรายได้มาจากการทำอาชีพเกษตรกรจึงอาจส่งผลให้การซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการสื่อสารและเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ของภาครัฐเป็นไปได้ยากอีกทั้งแบรนด์และรุ่นของอุปกรณ์สื่อสารก็อาจจะไม่มีความทันสมัยต่อการรองรับสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่วิจัยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีสองช่วงวัย คือ ประชาชนผู้สูงอายุและกลุ่มเยาวชน ดังนั้นประสบการณ์ในการใช้อุปกรณ์สื่อสารในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ รวมถึงความต้องการในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศและความรู้ทางด้านการบริการของภาครัฐบาลจึงไม่ใช้จุดประสงค์หลักในการแสวงหาความรู้ เช่นเดียวกันกับการรับรู้สารสนเทศทางด้านการบริการของภาครัฐบาล 2. ความต้องการฝึกอบรมการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัลด้านการบริการของภาครัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่มีการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัลที่ไม่คงที่ ไม่สม่ำเสมอและมีความเหลื่อมล้ำ เนื่องมาจากการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการหรือสารสนเทศของรัฐได้อย่างเหมาะสม อันจะส่งผลต่อการเกิดภาวะขาดความรู้บางประการ หรือเสียสิทธิประโยชน์ของตนเองที่ควรจะเป็นสวัสดิการหนึ่งของตนเอง นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ทุกคนล้วนต้องการได้รับการฝึกอบรมการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัลด้านการบริการของภาครัฐ เพื่อการสงวนสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองและมีความต้องการสารสนเทศด้านการบริการของภาครัฐอยู่ในระดับมาก โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสารสนเทศและความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและเกี่ยวกับการบริการของภาครัฐบาลที่มีส่วนร่วมกับการเข้าถึงข้อมูลของชุมชน 3. การพัฒนาและหาประสิทธิภาพหลักสูตรฝึกอบรม พบว่า ในด้านโครงสร้างหลักสูตรฝึกอบรมมีความครบถ้วน ถูกต้อง เหมาะสมต่อการนำไปใช้ฝึกอบรม และสอดคล้องกับโครงการวิจัย ทั้งในหัวข้อชื่อหลักสูตรฝึกอบรม คำอธิบายหลักสูตรฝึกอบรม วัตถุประสงค์ของหลักสูตรฝึกอบรม หัวข้อเนื้อหาการฝึกอบรม การเขียนแผนการฝึกอบรมครบตามองค์ประกอบที่สำคัญทุกประเด็น กิจกรรมการฝึกอบรม/สื่อประกอบการฝึกอบรม การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การประเมินผล เอกสารอ้างอิงที่ใช้ในการฝึกอบรม ผู้เข้าร่วมฝึกอบรม โครงสร้างเวลาการฝึกอบรม มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมและสอดคล้องจุดเน้นสู่การพัฒนาและส่งเสริมผู้เรียนหรือผู้เข้าฝึกอบรมให้มีความสามารถและทักษะสู่ศตวรรษที่ 21 4. การหาประสิทธิภาพนวัตกรรมหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล กับประชาชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ประสิทธิภาพ E1 / E2 ของอำเภอเมือง เท่ากับ 80.14 / 81.30 และอำเภอมะนัง เท่ากับ 80.38 / 80.90 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ 80/80 แสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ โดยการใช้หลักสูตรฝึกอบรมโดยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการฝึกอบรมก่อนและหลังฝึกอบรมด้วยหลักสูตรและศึกษาความพึงพอใจของผู้รับการฝึกอบรม พบว่า ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมอำเภอเมือง มีค่าคะแนนทีเฉลี่ยก่อนเข้าร่วมฝึกอบรมเท่ากับ 43.16 ในส่วนของคะแนนทีเฉลี่ยหลังเข้าร่วมฝึกอบรม มีค่าเท่ากับ 59.59 ซึ่งมีค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.06 ทั้งนี้ในส่วนของผู้เข้าร่วมฝึกอบรมอำเภอมะนัง มีค่าคะแนนทีเฉลี่ยก่อนเข้าร่วมฝึกอบรมเท่ากับ 42.77 โดยมีคะแนนทีเฉลี่ยหลังเข้าร่วมฝึกอบรมเท่ากับ 58.54 ซึ่งมีค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.86 และในส่วนของความพึงพอใจการเข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเฉพาะประเด็นด้านวิทยากรส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมสามารถนำสารสนเทศ และความรู้ที่ได้รับไปสู่การประกอบการตัดสินใจและทำให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมเกิดทักษะและความคิดที่หลากหลาย การประยุกต์ใช้จากการศึกษานี้สามารถนำไปใช้ในการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ ในท้องถิ่น หรือชุมชนในการจัดฝึกอบรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัลด้านการบริการของภาครัฐบาลในชุมชนได้ อีกทั้งช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัลด้านการบริการของภาครัฐให้แก่ประชาชนและหน่วยงานในท้องถิ่น ช่วยให้ประชาชนในชุมชนมีความรู้และทักษะในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ดิจิทัลในชีวิตประจำวันได้อย่างรอบคอบ ไม่ด่วนสรุป ไม่หลงเชื่อและสามารถตัดสินใจใช้ข้อมูลได้อย่างมีวิจารณญาณ สร้างสรรค์และน่าเชื่อถือไม่เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น |
---|